โดยทั่วไปควรใช้ ยาระบาย เป็นครั้งคราวใช้เพื่อแก้ท้องผูก แต่เมื่อหายแล้วจำเป็นต้องเลิก ยาระบาย ไม่ควรใช้ยาระบายต่อเนื่องเป็นเวลานานเพราะจะทำให้ลำไส้ติดเป็นนิสัย เรียกว่า “ลำไส้ขี้เกียจ”
พึงจำไว้เสมอว่า อย่าใช้ ยาระบาย โดยพร่ำเพรื่อ มิฉะนั้น ท่านจะต้องเป็นทาส ยาระบาย ไปตลอดชีวิต ยาระบายควรใช้ในกรณีต่อไปนี้
- หญิงท้องผูกขณะตั้งครรภ์
- เป็นริดสีดวงทวาร
- คนชราที่กล้ามเนื้อท้องอ่อนแรง
- คนไข้ที่ไม่สามารถกินอาหารพวกผัก, ผลไม้
- ใช้ร่วมกับยาถ่ายพยาธิ เพื่อช่วยให้ขับพยาธิออกมาได้หมด
ยาระบายมีหลายชนิดให้เลือกตามกลไกการออกฤทธิ์ ได้ดังนี้
1.ยาระบายประเภทเพิ่มปริมาณอุจจาระ
เช่น เม็ดแมงลัก มะละกอสุก อาหารเหล่านี้จะเพิ่มปริมาณอุจจาระ แล้วไปกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวอยากถ่าย
ข้อดี : ปลอดภัยกว่ายาอื่น ถ่ายเหมือนธรรมชาติ
ข้อเสีย : เห็นผลช้า ต้องใช้เวลา 1-2 วัน จึงจะเห็นผล ถ้าใช้เม็ดแมงลักจะต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพราะเม็ดแมงลักมีคุณสมบัติดูดน้ำ
2.ยาระบายประเภทหล่อลื่นทำให้อุจจาระนุ่ม
เป็นยาที่ทำให้อุจจาระนุ่มและชุ่มชื้น เหมาะกับพวกที่ท้องผูกมากมีอุจจาระแข็งและแห้ง ตัวอย่างเช่น ยาระบายพาราฟิน
ข้อดี : เป็นยาที่ช่วยป้องกันท้องผูกมากกว่าเป็นยารักษาท้องผูกในระยะยาว
ข้อเสีย : ไม่ควรกินประจำ เพราะจะทำให้ร่างกายขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน คือ วิตามินเอ, ดี, อีและเค นอกจากนี้ยาอาจสำลักเข้าปอด ทำให้ปอดอักเสบได้ จึงต้องระวัง ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และเด็กเล็ก
3.ยาระบายที่ออกฤทธิ์โดยการดูดน้ำกลับเข้ามาในลำไส้มากขึ้น (osmotic laxative)
ตำแหน่งออกฤทธิ์ของยาในกลุ่มนี้คือในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ยาพวกนี้เมื่อกินแล้วจะดูดซึมน้อย แล้วดูดน้ำไว้ใกล้ ๆ ตัว ทำให้มีน้ำในลำไส้มาก กระตุ้นทำให้อยากถ่าย ตัวอย่างยาเช่น มิลค์ ออฟ แมกนีเซียม (Milk of Magnesia) หรือ Duphalac
ข้อดี : ยากลุ่มนี้เหมาะสำหรับทารก เด็กผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และยาออกฤทธิ์ได้เร็วภายในครึ่งชั่วโมง
ข้อเสีย : มิลค์ ออฟ แมกนีเซียม (Milk of Magnesia) อาจทำให้แมกนีเซียมสะสมในร่างกายทำให้เกิดอันตราย จึงห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไตและเด็ก
4.ยาระบายกระตุ้นลำไส้โดยตรง
เป็นยาระบายที่มีฤทธิ์มากที่สุดและควรใช้อย่างระมัดระวัง ออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัวเป็นจังหวะ ๆ ยากลุ่มนี้จะกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัว นอกจากนี้น้ำและเกลือแร่จะถูกขับออกมามาก ทำให้อ่อนเพลียได้ง่าย กลุ่มที่เป็นสมุนไพรได้แก่ น้ำมันละหุ่ง, ยาที่สกัดจากมะขามแขก ถ้าจัดเป็นยาอันตรายได้แก่ ยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) หรือที่รู้จักว่า “ยาระบายเม็ดเหลือง”
ข้อดี : หาได้ง่าย มีหลายยี่ห้อ
ข้อเสีย : เกิดภาวะลำไส้เคยชินต่อยาระบายเมื่อทานยาในกลุ่มนี้ต่อเนื่องไปนานๆ ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายได้เอง และจะทนต่อยามากขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะปวดท้องมาก ระดับเกลือแร่เสียสมดุล ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์, คนที่ลำไส้อุดตัน, มีแผลในลำไส้หรือเป็นริดสีดวงทวาร
Resource : https://th.wikipedia.org/wiki/ยาระบายอย่างอ่อน